เป็นอาณานิคมชาติตะวันตกมีผลดีมากกว่าผลเสียจริงหรือ? มาฟังคนอินเดียพูดให้ฟังกัน

เป็นอาณานิคมชาติตะวันตกมีผลดีมากกว่าผลเสียจริงหรือ? มาฟังคนอินเดียพูดให้ฟังกัน

การเป็นอาณานิคมชาติตะวันตกมีผลดีมากว่าผลเสียจริงหรือไม่ !? มาฟังคนอินเดียพูดดีกว่า !

ตอนหนึ่งของรายการ Q&A ของช่อง ABC กำลังเป็นไวรัล ช่วยไขความกระจ่างมายาคติเรื่องการเป็นอาณานิคมชาติตะวันตกมีผลดีมากว่าผลเสียจริงหรือไม่ มีผู้ชมในรายการบอกกับศะศิ ถะรูร (Shashi Tharoor) นักการเมืองและผู้เชี่ยวชาญประวัติศาสตร์ยุคอาณานิคมว่าการที่อินเดียตกเป็นอาณานิคมของอังกฤษ มีส่วนช่วยให้อินเดียมีความเจริญก้าวหน้าด้านวิศวกรรม สาธารณูปโภค รวมถึงทำให้อินเดียเป็นชาติประชาธิปไตย ที่สำคัญคือทำให้ “ชาวอินเดียได้รับการศึกษาอย่างรวดเร็ว โดยมีคุณ (ศศิ ถะรูร) เป็นตัวอย่างที่ดี ไม่มีใครสามารถประเมินคุณูปการที่เป็นนามธรรมที่อินเดียได้รับหลังอยู่ภายใต้การปกครองของอังกฤษ และทำให้ประเทศนี้เป็นหนึ่งในประเทศที่ทรงอิทธิพลที่สุดในโลก” จากคำถามนี้ดูเหมือนว่า ชาวอังกฤษจะมีคุณต่ออินเดียจริงๆ ช่วยเปลี่ยนประเทศที่ด้อยพัฒนา ให้กลายเป็นชาติมหาอำนาจ ! แต่ศะศิ ถะรูรแย้งด้วยข้อเท็จจริงเป็นฉากๆ ว่า …

“ตอนที่อังกฤษเข้ามายึดครองนั้น อินเดียเป็นหนึ่งในดินแดนที่มั่งคั่งที่สุดในโลก มีสัดส่วน GDP คิดเป็น 27% ของทั้งโลก ในราวปี 1700 และอยู่ที่ 23% ในปี 1800 ต่อหลังจากครอบงำอินเดียแล้ว ในช่วง 200 ปีหลังจากนั้น อินเดียถูกทำลาย ถูกขูดรีด ถูกปล้นชิง กลายเป็นประเทศที่ยากจนข้นแค้น มีสัดส่วน GDP เพียง 3% ของทั้งโลก!

และตอนที่อังกฤษจากไปในปี 1947 ประชากร 90% มีสถานะเป็นคนยากจน ขณะที่อัตราการรู้หนังสืออยู่ต่ำกว่า 17% และอายุไขเฉลี่ยของประชาชนอยู่ที่เพียง 27 ปี !

อัตราการเติบโตทางเศรษฐกิจของอาณานิคมบริติชอินเดียระหว่างปี 1900 – 1947 อยู่แค่ 0.0001% อันเป็นผลมาจากการสูบทรัพยากรและการขูดรีดจากภาษี !”

และในส่วนของความก้าวหน้าทางการศึกษาที่ศะศิถูกแซะนั้น เขาบอกว่า

“คุณพระช่วย ! การศึกษาเป็นเรื่องสุดท้ายที่พวกบริติชจะลงทุนให้คนอินเดีย”

แล้วยกตัวอย่างจากบันทึกของชาวอเมริกันที่เดินทางมาอนุทวีปในเวลานั้นว่า งบประมาณการศึกษาของอินเดียทั้งประเทศตั้งแต่ชั้นประถมจนถึงอุดม ช่วงทศวรรษที่ 1930 ยังน้อยกว่างบของโรงเรียนมัธยมครึ่งหนึ่งในรัฐนิวยอร์กเสียอีก ส่วนที่ว่าอังกฤษทิ้งความเป็นเลิศด้านวิศวกรรมเอาไว้ให้ ก็เป็นผลงานของรัฐบาลอินเดียเองที่ริเริ่มหลังได้รับเอกราช ศะศิ ถะรูร ทิ้งท้ายว่า

“ไม่มีอะไรเทียบได้กับความสำเร็จของอินเดียที่ผงาดขึ้นจากกองเถ้าถ่าน ! ต่อสิ่งที่อังกฤษย่ำยีไว้และกระทำต่อเราตลอดช่วง 200 ปีก่อนหน้า”

ทิ้งท้าย (จริงๆ) เขาเสริมว่าอินเดียเคยเป็นผู้ส่งออกสิ่งทอรายใหญ่ของโลกมาตลอด 2,000 ปี จนกระทั่งอังกฤษทำลายอุตสาหกรรมนี้ลงในนามของการค้าเสรี ด้วยการทุบรื้อกี่ทอและตั้งพิกัดภาษีสูงลิ่ว ถึงขนาดตัดนิ้วคนทอผ้า และทำให้ชุมชนฉิบหาย คนตายข้างถนนเป็นเบือ เพื่อประโยชน์อุตสาหกรรมของอังกฤษเอง

“การค้าเสรีที่ใช้ปืนจ่อหัวมันเสรีตรงไหน?”

ยังมีตัวอย่างของ “วีรบุรุษ” วินสตัน เชอร์ชิล ที่สั่งให้ขนธัญาหารไปอังกฤษ อ้างว่าจะเตรียมการสงครามที่ยังไม่เกิดขึ้น จนชาวเบงกอลอดตายกว่า 4.3 ล้านคนแล้วบอกว่า

“เป็นความผิดของพวกนั้นเองที่เอากันเหมือนกระต่าย” 
“ทำไมคานธีไม่ตายไปซะที”

คำตอบของ ศะศิ ถะรูรทำให้ชาวอินเดียตาสว่างไม่น้อยและกลายเป็นไวรัลอยู่ตอนนี้ ในส่วนของคนไทยบางคนน่าจะช่วยให้เกิดสติยั้งคิดได้ว่า การตกเป็นอาณานิคมเพื่อแลกกับการพูดภาษาอังกฤษเก่งๆ มีผังเมืองสวยๆ ฯลฯ เป็นการเอาพิเสนไปแลกกับเกลือชัดๆ