เมื่อญี่ปุ่น “เปิดประเทศ” อีกครั้ง....พระจักรพรรดิยังต้องตรัสถึง

เมื่อญี่ปุ่น “เปิดประเทศ”  อีกครั้ง....พระจักรพรรดิยังต้องตรัสถึง

ปี 2562 จะเป็นปีที่ญี่ปุ่นพบความเปลี่ยนแปลงอย่างใหญ่หลวง จากการที่รัฐบาลจะอนุญาตให้ชาวต่างชาติมาทำงานในญี่ปุ่นมากขึ้น นี่คือการ “เปิดประเทศ” อีกครั้ง ที่จะท้าทายญี่ปุ่นที่เคยภาคภูมิใจในเอกภาพมาตลอด แม้กระทั่งสมเด็จพระจักรพรรดิยังทรงมีพระราชดำรัสให้เอื้ออารีต่อชาวต่างชาติ

ในพระราชดำรัสเนื่องในวันคล้ายวันพระราชสมภพของสมเด็จพระจักรพรรดิแห่งญี่ปุ่น เมื่อวันที่ 23 ธันวาคม ปีที่แล้ว พระองค์ทรงตรัสว่า



“เมื่อครั้งที่สมเด็จพระจักรพรรดินีกับข้าพเจ้าเยือนฟิลิปปินส์และเวียดนาม เราก็ได้พบกับเหล่าบุคคลที่พยายามจะบรรลุเป้าหมายในการมาทำงานที่ญี่ปุ่นให้ได้ในอนาคต ด้วยตระหนักในใจว่าคนเชื้อสายญี่ปุ่นอาศัยอยู่ที่ประเทศอื่นในฐานะสมาชิกผู้แข็งขันของสังคมนั้นโดยได้รับความช่วยเหลือจากประเทศนั้น ๆข้าพเจ้าก็หวังว่าประชาชนญี่ปุ่นจะสามารถต้อนรับผู้มาทำงานในญี่ปุ่นในฐานะสมาชิกของสังคมเราได้อย่างอบอุ่นด้วย

นอกจากนี้ จำนวนชาวต่างชาติที่มาเยือนญี่ปุ่นก็กำลังเพิ่มขึ้นทุกปี ข้าพเจ้าหวังว่าผู้มาเยือนเหล่านี้จะได้เห็นญี่ปุ่นด้วยสายตาของตนเองและเข้าใจประเทศเราลึกซึ้งยิ่งขึ้น และหวังว่าความปรารถนาดีกับมิตรภาพจะได้รับการส่งเสริมระหว่างญี่ปุ่นกับนานาประเทศ”

ผู้เชี่ยวชาญที่คุ้นเคยกับญี่ปุ่นและชาวญี่ปุ่นบางคนต่างสังเกตได้ว่า พระองค์ทรงตระหนักถึงความเปลี่ยนแปลงทางเศรษฐกิจและสังคม และปัญญาเกี่ยวกับสิทธิมนุษยชน จึงทรงพูดในประเด็นนี้ด้วย เพราะเมื่อมีคนต่างชาติเข้ามาอาศัยใช้ชีวิตในญี่ปุ่นมากขึ้น คนญี่ปุ่นเองก็ควรจะต้อนรับดูแลให้เหมือนคนในประเทศตนเองด้วย เพราะเมื่อครั้งที่ญี่ปุ่นลำบากยากจนก็เคยอพยพลี้ภัย และส่งคนญี่ปุ่นออกไปทำมาหากินที่ต่างบ้านต่างเมืองเช่นกัน เรื่องนี้แสดงให้เห็นว่ากฏหมายแรงงานต่างชาติที่กำลังจะใช้นี้ พระองค์ก็มีความเป็นห่วงเป็นกังวลมาก จึงอยากฝากให้คนญี่ปุ่นให้ความเอื้ออารีต่อคนต่างประเทศด้วย



ถึงแม้จะมีคนไทยจำนวนมากมาเที่ยวญี่ปุ่นบ่อยกว่าไปเที่ยวต่างจังหวัด แต่บรรดานักท่องเที่ยวไม่อาจสัมผัสได้ว่า การใช้ชีวิตในแดนอาทิตย์อุทัยนั้นแตกต่างจากการมาเที่ยวราวฟ้ากับเหว ญี่ปุ่นเป็นสังคมที่แบ่งแยก “คนนอก” กับ “คนใน” อย่างชัดเจน ตั้งแต่ภาษา การบริการ ไปจนถึงระเบียบกฎหมายบางอย่าง ชาวต่างชาติที่ใช้ชีวิตในญี่ปุ่นจึงพบกับความไม่สะดวกหลายอย่าง จนอาจถึงขั้นกีดกัน แยกเขาแบ่งเรา

ที่เป็นเช่นนี้เนื่องจาก ญี่ปุ่นเป็นเกาะและยังเคยปิดประเทศ จึงทำให้มีค่อยได้ปฏิสัมพันธ์กับวัฒนธรรมต่างชาติ บางคนถึงกับมีทัศนคติว่า ชาวต่างชาติไม่มีวันจะเข้าใจ และเข้ากับชาวญี่ปุ่นได้ ไปจนถึงมองว่าชาวต่างชาติเป็น “ผู้รุกราน” ก็มี

แต่เนื่องจากญี่ปุ่นเผชิญกับสังคมผู้สูงอายุ และขาดแคลนแรงงานอย่างรุนแรง รัฐบาลของนายกฯ ชินโซ อาเบะ จึงต้องแก้ไขกฎหมายเพื่อเปิดให้ชาวต่างชาติเข้ามาทำงานในญี่ปุ่นมากขึ้น ซ้ำยังเร่งรีบผ่านกฎหมายท่ามกลางการคัดค้านของฝ่ายค้านที่เรียกร้องขอเวลาพิจารณาให้รอบคอบ รัฐบาลอ้างว่าต้องบังคับใช้กฎหมายให้ได้ภายในเดือนเมษายน ปี 2562 ไม่เช่นนั้นจะเกิดผลกระทบใหญ่หลวงกับเศรษฐกิจญี่ปุ่น

 



เงินไม่มีสัญชาติ พลิกฟื้นแดนอาทิตย์อุทัย

ในหลายทศวรรษที่ผ่านมา ชาวญี่ปุ่นเดินทางไปต่างประเทศมากมาย ทั้งไปเป็นแรงงานแสวงโชคในอเมริกาใต้ในช่วงญี่ปุ่นยังยากจน จนถึงไปท่องเที่ยว และลงทุนธุรกิจในต่างแดนในช่วงที่ญี่ปุ่นรุ่งเรืองขึ้น แต่กลับเปิดรับให้ชาวต่างชาติมายังญี่ปุ่นน้อยมาก ก่อนที่จะมีนโยบาย “ฟรีวีซ่า” เมื่อราว 5 ปีก่อน คนไทยคงยังไม่ลืมว่าญี่ปุ่นคือหนึ่งในประเทศที่เดินทางไปยากที่สุด

สหรัฐอเมริกาที่พัฒนาเศรษฐกิจจนกลายเป็นมหาอำนาจเบอร์ 1 ของโลก ส่วนหนึ่งเป็นคุณูปการของชาวต่างชาติ ด้วยค่านิยมว่า “เงินไม่มีสัญชาติ” ขอให้ทำงานได้ ไม่ว่าจะเป็นใครก็สามารถหลักปักฐานได้ แม้แต่คนผิวสีก็ยังเป็นประธานาธิบดีของสหรัฐได้ ทุกวันนี้มีชาวต่างชาติทำงานในสหรัฐมากถึง 17% ของจำนวนประชากร แต่ที่ญี่ปุ่นมีชาวต่างชาติพำนักและทำงานเพียง 1% เท่านั้น

สถิติหลายอย่างบ่งชี้ว่า ญี่ปุ่นไม่อาจจะ “ปิดตัว” ได้อีก ประชาชนที่มีอายุเกิน 65 ปีในขณะนี้มีมากถึง 27% และคาดว่าในปี 2050 จะเพิ่มเป็น 40% ขณะที่งานจำนวนมากหาคนทำไม่ได้ เพราะผู้สูงอายุทำไม่ไหว ส่วนคนหนุ่มสาวไม่อยากจะทำงานแบบนี้ รัฐบาลของนายกฯอาเบะจึงต้องผลักดันให้เปิดรับแรงงานต่างชาติ โดยตามกฎหมายจะออกวีซ่าประเภทพิเศษให้แรงงานมากกว่า 345,000 คนนับจากปีนี้ไปอีก 5 ปี

อย่างไรก็ตาม การเปิดรับแรงงานต่างชาติครั้งนี้ คือกลุ่มแรงงานที่ใช้ “แรง” จริง ๆ เป็นงานที่หนัก เหนื่อย เสี่ยง ซึ่งชาวญี่ปุ่นไม่อยากจะทำ ชาวต่างชาติเหล่านี้ไม่เพียงต้องเผชิญกับความยากลำบากในการทำงาน แต่ยังต้องข้ามผ่าน “กำแพงทัศนคติ” ของชาวญี่ปุ่นด้วย ทำให้เกิดความหวั่นวิตกอย่างมากในเรื่องสิทธิมนุษยชน จนสมเด็จพระจักรพรรดิยังต้องมีพระราชดำรัสถึง

 



สร้างญี่ปุ่นให้ยิ่งใหญ่อีกครั้ง?

ญี่ปุ่นอาจต้องดูตัวอย่างพัฒนาของหลายประเทศ เช่น สหรัฐที่สร้างชาติด้วยกลุ่มชนที่หลากหลาย จนถึงยุคของประธานาธิบดีทรัมป์ที่ประกาศว่าจะ “สร้างอเมริกาให้ยิ่งใหญ่อีกครั้ง” make America great again ...ทุกวันนี้สหรัฐเป็นเช่นไร ?

และมองดู จีน ที่เคยถูกดูแคลนว่าเป็น “คนป่วยแห่งเอเชีย” แต่เมื่อดำเนินนโยบาย “ปฏิรูปและเปิดประเทศ” เมื่อ 40 ปีก่อน...ทุกวันนี้จีนเป็นเช่นไร ?

ในอดีต ญี่ปุ่นเคยปิดประเทศและภาคภูมิใจในความเป็นลูกพระอาทิตย์ จนเมื่อชาวตะวันตกนำเรือปืนมาบุก ถึงได้รู้ว่าโลกรุดหน้าและตนเองล้าหลังแค่ไหน วันนี้ ญี่ปุ่นจะเปิดประเทศอีกครั้ง ชาวต่างชาติจะมาเป็น “ผู้รุกราน” หรือมาช่วย “ก่อร่างสร้างชาติ” ก็ต้องขึ้นอยู่กับชาวญี่ปุ่นเองด้วยว่า จะเข้าใจถึงพระราชดำรัสของสมเด็จพระจักรพรรดิมากน้อยเพียงใด.