เม็ดมะม่วงหิมพานต์ ประโยชน์ สรรพคุณ และโทษทีควรระวัง
รู้จักกับเม็ดมะม่วงหิมพานต์
เม็ดมะม่วงหิมพานต์ (Cashew) เป็นหนึ่งในถั่วที่มีเส้นใยอาหารต่ำ แต่อุดมไปด้วยวิตามิน แร่ธาตุ และสารต้านอนุมูลอิสระ ประกอบด้วยวิตามินอี วิตามินเค วิตามินบี 6 ทองแดง ฟอสฟอรัส สังกะสี แมกนีเซียม เหล็ก และซีลีเนียม ซึ่งล้วนแต่สำคัญต่อการทำงานของร่างกาย
เม็ดมะม่วงหิมพานต์ให้พลังงานเท่าไหร่?
เม็ดมะม่วงหิมพานต์เป็นแหล่งพลังงานสูง ในขนาด 100 กรัม ประกอบด้วย พลังงาน 553 กิโลแคลอรี่ มีไขมัน 43.85 กรัม
ถือแม้เม็ดมะม่วงหิมพานต์จะมีปริมาณไขมันมาก แต่ก็เป็นไขมันดี หากรับประทานในปริมาณที่พอเหมาะจะให้ประโยชน์ต่อร่างกายมากมาย เช่น ลดระดับไขมันเลว และคอเลสเตอรอลในเลือด มีสารต้านอนุมูลอิสระ ช่วยในการชะลอวัย
คุณค่าทางโภชนาการต่อ 100 กรัม
- พลังงาน: 553 กิโลแคลอรี
- โปรตีน: 18.22 g
- คาร์โบไฮเดรต: 30.19 g
- น้ำตาล: 5.91 g
- ใยอาหาร: 3.3 g
- ไขมัน: 43.85 g
วิตามิน
- ไทอามีน (บี1): 0.42 มก. (37%)
- ไรโบเฟลวิน (บี2): 0.06 มก. (5%)
- ไนอาซิน (บี3): 1.06 มก. (7%)
- กรดแพนโทเทนิก (บี5 ): 0.86 มก. (17%)
- วิตามินบี 6: 0.42 มก. (32%)
- โฟเลต (บี9): 25 μg (6%)
- วิตามินซี: 0.5 มก. (1%)
แร่ธาตุ
- แคลเซียม: 37 มก. (1%)
- เหล็ก: 6.68 มก.(51%)
- แมกนีเซียม: 292 มก.(82%)
- ฟอสฟอรัส: 593 มก.(85%)
- โพแทสเซียม: 660 มก. (14%)
- สังกะสี: 5.78 มก. (61%)
หมายเหตุ: ในวงเล็บเป็นเปอร์เซ็นต์ที่เหมาะสมต่อการบริโภคของผู้ใหญ่ในแต่ละวัน (% DV)
ประโยชน์ของเม็ดมะม่วงหิมพานต์
1. ระบบไหลเวียนเลือดและหัวใจ
งานวิจัยพบว่า การรับประทานถั่ว เช่น เม็ดมะม่วงหิมพานต์ สามารถลดความเสี่ยงต่อการเกิดโรคหัวใจและหลอดเลือดได้ ซึ่งอาจเกิดผ่านการลดความดันโลหิตและระดับคอเลสเตอรอลชนิดที่ไม่ดี
ถั่วนั้นเป็นอาหารที่ไม่มีคอเลสเตอรอลตามธรรมชาติ และมีไขมันชนิดที่ดีต่อหัวใจ เส้นใยอาหาร และโปรตีน นอกจากนั้นยังมีอาร์จินีน (Arginine) ซึ่งช่วยป้องกันเยื่อบุด้านในของผนังเส้นเลือดแดงด้วย
วิตามินและแร่ธาตุอื่นๆ ที่พบในถั่ว เช่น โพแทสเซียม วิตามินอี วิตามินบี 6 และกรดโฟลิกนั้นก็สามารถช่วยป้องกันโรคหัวใจได้เช่นกัน อีกทั้งยังสามารถช่วยบำรุงเลือดได้
ทองแดง และเหล็กในเม็ดมะม่วงหิมพานต์นั้นทำงานร่วมกันในการช่วยให้ร่างกายสร้าง และใช้งานเม็ดเลือดแดง ซึ่งจะช่วยให้เส้นเลือด เส้นประสาท ระบบภูมิคุ้มกัน และกระดูก แข็งแรง ทำงานเป็นปกติ
2. การมองเห็น
เราอาจจะเคยได้ยินว่า แครอทนั้นดีต่อดวงตา แต่อาจจะแปลกใจที่พบว่า เม็ดมะม่วงหิมพานต์ก็เช่นกัน
โดยในเม็ดมะม่วงหิมพานต์นี้มีลูเทอิน (lutein) และซีแซนทีน (Zeaxanthin) ซึ่งเป็นสารต้านอนุมูลอิสระ หากรับประทานสม่ำเสมอในปริมาณที่สูง สารเหล่านี้จะช่วยป้องกันการทำลายดวงตาจากแสง (ซึ่งอาจทำให้เกิดอาการตาบอดในผู้สูงอายุ) และอาจจะช่วยลดโอกาสในการเกิดโรคต้อกระจกได้
3. การควบคุมน้ำหนัก
งานวิจัยหนึ่งพบว่า การรับประทานถั่ว 1 กำมือต่อวัน สามารถช่วยต่อสู่กับโรคหัวใจและหลอดเลือด เบาหวาน และมะเร็งได้
การเปลี่ยนจากการรับประทานไขมันจากสัตว์ และโปรตีน มาเป็นไขมันชนิดที่ไม่อิ่มตัวที่พบในเม็ดมะม่วงหิมพานต์นั้นเป็นวิธีที่ดีในการควบคุมน้ำหนัก ลดไขมันและคอเลสเตอรอลที่อยู่ภายในร่างกาย
4. ต้านโรคเบาหวาน
สารสกัดจากเม็ดมะม่วงหิมพานต์มีประสิทธิภาพในการต้านโรคเบาหวาน
โดยสามารถกระตุ้นให้เกิดการลำเลียงน้ำตาลเข้าสู่เซลล์กล้ามเนื้อเพิ่มขึ้น มีผลควบคุมระดับน้ำตาลในเลือด และป้องกันภาวะดื้อต่ออินซูลิน (Insulin Resistance)
5. ชะลอวัย
ยอดมะม่วงหิมพานต์มีประสิทธิภาพในการต้านสารอนุมูลอิสระสูงมาก มีค่า ORAC (Oxygen Radical Absorbance Capacity) เป็นค่าความสามารถในการต้านอนุมูลอิสระของอาหาร สูงถึง 7,278 ไมโครโมลทีอี
จึงช่วยปกป้องเซลล์จากการถูกทำลาย และชะลอความเสื่อมของอวัยวะต่างๆ ซึ่งเป็นสาเหตุของความแก่ได้
การบริโภคเม็ดมะม่วงหิมพานต์อย่างปลอดภัย
เม็ดมะม่วงหิมพานต์มีสารอาหารหลายชนิด แต่ก็ควรบริโภคในปริมาณที่เหมาะสม และระมัดระวังในการบริโภคสารปรุงแต่งที่เพิ่มลงไปในผลิตภัณฑ์แต่ละชนิดด้วย เช่น เกลือ เนย หรือน้ำตาล
นอกจากนี้การสัมผัสกับเม็ดมะม่วงหิมพานต์ที่ไม่ผ่านความร้อน หรือการปรุงสุกมาก่อน ยังอาจก่อให้เกิดอาการระคายเคืองต่อผิวหนังได้
ดังนั้นควรปรึกษาแพทย์ หรือผู้เชี่ยวชาญก่อนรับประทานอาหาร อาหารเสริม หรือสารใดๆ จากเม็ดมะม่วงหิมพานต์เสมอ เพื่อความปลอดภัยของผู้บริโภค
และยังสามารถรับประทานก่อนอาหารไม่เกินครั้งละ 10 เม็ดเพื่อช่วยให้อิ่มง่ายขึ้น หรือรับประทานเป็นขนมได้ประมาณสัปดาห์ละ 2 ครั้ง เพื่อลดการรับประทานขนมอื่นๆ ที่มีส่วนผสมไขมัน นม เนย น้ำตาล แป้งที่เยอะเกินไป
ใครบ้างที่ต้องระมัดระวังการบริโภคเม็ดมะม่วงหิมพานต์
ผู้ที่มีปัญหาสุขภาพ ควรเพิ่มความระมัดระวังเป็นพิเศษในการบริโภคเม็ดมะม่วงหิมพานต์ โดยเฉพาะบุคคลในกลุ่มต่อไปนี้
1. หญิงตั้งครรภ์ หรืออยู่ระหว่างให้นมบุตร
การรับประทานเม็ดมะม่วงหิมพานต์จากอาหารมีความปลอดภัย แต่ไม่ควรรับประทานในปริมาณมากเพื่อหวังผลทางการรักษาโรค เนื่องจากไม่มีข้อมูลด้านความปลอดภัยที่เพียงพอ
2. ผู้ที่แพ้ถั่ว หรือสารเพคติน (Pectin)
ผู้ที่แพ้เพคตินซึ่งเป็นสารที่อยู่ในพืช รวมทั้งถั่วและเมล็ดพืชบางชนิด เช่น พิสตาชิโอ อัลมอนด์ ฮาเซลนัท ถั่วลิสง อาจแพ้เม็ดมะม่วงหิมพานต์ได้เช่นกัน
ดังนั้นผู้ที่มีประวัติอาการแพ้ดังกล่าวควรปรึกษาแพทย์ก่อนรับประทานเสมอ
3. ผู้ป่วยเบาหวาน
เม็ดมะม่วงหิมพานต์อาจส่งผลให้ระดับน้ำตาลเพิ่มสูงขึ้น ผู้ป่วยโรคเบาหวานที่รับประทานเม็ดมะม่วงหิมพานต์ควรหมั่นตรวจระดับน้ำตาลในเลือดเป็นประจำ และแจ้งให้แพทย์ทราบก่อนบริโภคเสมอ เนื่องจากผู้ป่วยอาจต้องปรับเปลี่ยนการใช้ยารักษา
4. ผู้ที่เข้ารับการผ่าตัด
เนื่องจากเม็ดมะม่วงหิมพานต์อาจทำให้ระดับน้ำตาลในเลือดสูงขึ้น ซึ่งอาจส่งผลต่อการควบคุมระดับน้ำตาลในเลือดได้
ดังนั้นผู้ที่ต้องเข้ารับการผ่าตัดควรหยุดรับประทานเม็ดมะม่วงหิมพานต์อย่างน้อย 2 สัปดาห์ก่อนวันผ่าตัด
การรับประทานเม็ดมะม่วงหิมพานต์นั้นเชื่อมโยงกับการป้องกันมะเร็ง ช่วยเรื่องสุขภาพของหัวใจ การคุมน้ำหนัก และสามารถนำมารับประทานแทนไขมัน และโปรตีนจากสัตว์ได้ดี นอกจากนั้นยังมีรสชาติดี เหมาะเป็นของกินเล่น
อย่างไรก็ตาม เม็ดมะม่วงหิมพานต์เป็นหนึ่งในอาหารที่เป็นสาเหตุหลักของโรคแพ้อาหาร หากรับประทานแล้วเกิดอาการผื่นคัน หายใจลำบาก แน่นหน้าอก ลมพิษ หรือกลืนลำบาก นั่นหมายถึงอาการแพ้รุนแรง ต้องรีบไปพบแพทย์ทันที
Facebook Comments (0)